ศ.อ.ศ.อ. จัดตั้งเมื่อ พ.ศ. 2497 หลังการจัดตั้งกองการศึกษาผู้ใหญ่ 14 ปี รูปแบบการดำเนินงานการศึกษาผู้ใหญ่ ก่อนมี ศ.อ.ศ.อ. เป็นการศึกษาผู้ใหญ่เพื่อการรู้หนังสือ การฝึกอาชีพ การศึกษาสายสามัญ สำหรับผู้ที่ไม่มีโอกาสเข้าศึกษาในระบบโรงเรียน เมื่อมีการจัดตั้ง ศ.อ.ศ.อ.แล้ว ซึ่งเป็นศูนย์กลางอบรมการศึกษาผู้ใหญ่จังหวัดอุบลราชธานี (ศ.อ.ศ.อ.) ย่อมาจากคำเต็มว่า “ศูนย์กลางอบรมการศึกษาผู้ใหญ่จังหวัดอุบลราชธานี” โดย
ศ ตัวแรก ย่อมาจากคำว่า “ศูนย์กลาง”
อ ตัวแรก ย่อมาจากคำว่า “อบรม”
ศ ตัวหลัง ย่อมาจากคำว่า “การศึกษาผู้ใหญ่”
อ ตัวหลัง ย่อมาจากคำว่า “จังหวัดอุบลราชธานี”
ทำหน้าที่ฝึกอบรมเจ้าหน้าที่เกี่ยวกับมูลสารศึกษา ที่เรียกว่า “สารนิเทศก์” เพื่อออกไปปฏิบัติงานให้มูลสารศึกษาแก่ประชาชนในชนบท
วันที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2519 กระทรวงศึกษาธิการ ได้ประกาศจัดตั้งให้ ศ.อ.ศ.อ. เป็น ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนประจำภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีวัตถุประสงค์เพื่อประชุมสัมมนาครู เจ้าหน้าที่ ผู้เกี่ยวข้องดำเนินงานให้การศึกษาทางวิทยุ ไปรษณีย์และสื่อสารมวลชนอื่นๆ วิจัย ค้นคว้า ทดลอง เพื่อปรับปรุงงานให้เหมาะสมกับสภาพปัญหา
วันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2522 กระทรวงศึกษาธิการ ได้ประกาศจัดตั้งกรมการศึกษานอกโรงเรียน และได้ออกระเบียบว่าด้วยสถานศึกษา สังกัด กรมการศึกษานอกโรงเรียน “ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนประจำภาคตะวันออกเฉียงเหนือ” จึงได้ทำการเปลี่ยนชื่อเป็น “ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ” (ศนอ.) โดยตัดคำว่าประจำออก แต่ให้คงชื่อ ศ.อ.ศ.อ. ไว้ด้วย เพื่อคงชื่อปรากฏอยู่ให้คนรุ่นหลังได้รับทราบ โดยมีบทบาทส่งเสริมงานวิชาการ ให้คำปรึกษา แนะนำ แนะแนว ประชาสัมพันธ์ ติดตามผล รวบรวมข้อมูลและประเมินผล พัฒนางาน นิเทศงานการศึกษานอกโรงเรียน
ต่อมาปี 2542 มีการปรับเปลี่ยนโครงสร้าง และการปฏิรูปการศึกษาใหม่ทั้งระบบ และในวันที่ 4 มีนาคม 2551 ได้มีการตั้งพระราชบัญญัติส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย พ.ศ. 2551ขึ้น จึงได้มีการเปลี่ยนชื่อจากเดิม “ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ” ปัจจุบันเป็น สถาบันพัฒนาการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า สถาบัน กศน.ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ศ.อ.ศ.อ.) เป็นสถานศึกษาที่จัดตั้งตามประกาศของพระราชบัญญัติ ตามมาตรา 18 โดยมีอำนาจและหน้าที่ ในการจัดการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยประเภทการศึกษาต่อเนื่อง ให้สอดคล้องกับความจำเป็นและความสนในของกลุ่มเป้าหมายและประชาชนในภูมิภาค วิจัย พัฒนา กศน. ส่งเสริม สนับสนุนและพัฒนาคุณภาพทางวิชาการ หลักสูตร สื่อ เทคโนโลยี นวัตกรรมทางการศึกษา บุคลากรและระบบข้อมูลสารสนเทศที่เกี่ยวกับ กศน.แก่สถานศึกษาในภูมิภาคและภาคีเครือข่าย โดยรับผิดชอบพื้นที่ 20 จังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ปัจจุบันมี นางสาวประภาพร สุพรรณ์ รองผู้อำนวยการ รักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการเรียนรู้ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
|